ทำความรู้จัก “ฝีดาษลิง” กลายพันธุ์ เสี่ยงระบาดระดับโลก
![](https://magz20bkk.com/wp-content/uploads/2024/08/messageImage_1724054221282.jpg)
องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศให้โรคฝีดาษลิง หรือ mpox เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) อีกครั้ง หลังระบาดหนัก ของสายพันธุ์ใหม่ที่ clade Ib ซึ่งแพร่กระจายได้ง่ายกว่าและได้ลุกลามไปยังประเทศที่ไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยมาก่อน
ฝีดาษวานร หรือ Monkeypox เป็นเชื้อไวรัสที่อยู่ในสัตว์ฟันแทะบนทวีปแอฟริกา โดยเชื้อไวรัสนี้แพร่เชื้อไปยังสัตว์อื่น และสามารถแพร่จากสัตว์ไปสู่คนได้ ซึ่งการรายงานที่พบโรคนี้ครั้งแรกเกิดจากลิงในห้องทดลอง จึงเรียกว่าฝีดาษลิง หรือฝีดาษวานรนั่นเอง ซึ่งหมายความว่าลิงไม่ใช่แหล่งกำเนิดของโรคนี้อย่างที่เข้าใจกัน การระบาดที่พบในตอนนี้ เกิดในประเทศบนทวีปอเมริกาเหนือ ยุโรปเป็นส่วนใหญ่ สามารถติดต่อจากคนสู่คนได้จากการสัมผัสทางผิวหนัง สารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ หรือวัตถุที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส สามารถเฝ้าระวังได้ง่าย เพราะผู้ป่วยติดเชื้อจะมีตุ่มขึ้นตามร่างกายเป็นรอยโรคที่สังเกตได้ชัดเจน
ล่าสุด องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ประกาศให้โรคฝีดาษลิง หรือ mpox เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) อีกครั้ง เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ผลมาจากการปรากฏตัวของไวรัส mpox สายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า clade Ib ซึ่งแพร่กระจายได้ง่ายกว่าและได้ลุกลามไปยังประเทศที่ไม่เคยมีรายงานผู้ป่วยมาก่อน เช่น บุรุนดี เคนยา รวันดา และยูกันดา DRC รายงานผู้ป่วยกว่า 18,000 รายและผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 ราย โดย 70% เป็นเด็กในปีนี้เพียงปีเดียว การระบาดครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อเด็กอย่างรุนแรง นอกจากนี้ สายพันธุ์ clade Ib ยังสร้างความวิตกกังวลเนื่องจากมีศักยภาพในการแพร่กระจายอย่างรวดเร็วและมีอัตราการเสียชีวิตสูงกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า (clade IIb) ถึงร้อยละ 1 ในขณะที่สายพันธุ์เดิมมีอัตราการรอดชีวิตสูงถึงร้อยละ 99.9 ที่น่าวิตกไปกว่านั้น มีรายงานว่าสตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ mpox มีความเสี่ยงสูงต่อการแท้งบุตร ข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าอัตราการแท้งบุตรในสตรีตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อสูงกว่าปกติอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเพิ่มความซับซ้อนและความรุนแรงของวิกฤตสาธารณสุขครั้งนี้
การระบาดของ Clade Ib ใน DRC เน้นย้ำถึงความจำเป็นในทุกประเทศต้องร่วมด้วยช่วยกันถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสฝีดาษลิง ทั้งจีโนมที่แยกได้จากผู้ป่วยในประเทศและแชร์ข้อมูลไปยังฐานข้อมูลไวรัสฝีดาษลิงโลก จีเสส (GISAID) เพื่อการเฝ้าระวังและป้องกันอย่างเข้มงวด การวิวัฒนาการที่เกิดจาก APOBEC3 ในไวรัสฝีดาษลิง Clade Ib อาจทำให้เกิดการแพร่เชื้อที่รวดเร็วและปรับตัวเข้ากับมนุษย์ได้ดีขึ้น คล้ายกับที่เกิดขึ้นในการระบาดทั่วโลกปี 2565 จาก Clade IIb สถานการณ์นี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการศึกษาวิวัฒนาการของไวรัสฝีดาษลิงอย่างต่อเนื่อง และการพัฒนากลยุทธ์ด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือกับการระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ
การศึกษาในคองโกยังแสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของอัตราการกลายพันธุ์ในแต่ละสายพันธุ์ของไวรัสฝีดาษลิง โดยพบว่า
– สายพันธุ์ Ia มีการกลายพันธุ์จาก APOBEC3 เพียง 10.7% บ่งชี้ว่าส่วนใหญ่ติดเชื้อจากสัตว์สู่คน
– สายพันธุ์ Ib มีการกลายพันธุ์ 20.7% แสดงถึงการแพร่เชื้อระหว่างคนสู่คนที่เพิ่มขึ้น
– สายพันธุ์ IIb มีการกลายพันธุ์สูงถึง 35.9% สอดคล้องกับการระบาดทั่วโลกในปี 2565 ที่แพร่เชื้อระหว่างคนเป็นหลัก
ความแตกต่างนี้สะท้อนถึงรูปแบบการแพร่เชื้อที่แตกต่างกัน โดยสายพันธุ์ Ib และ IIb มีแนวโน้มแพร่เชื้อระหว่างคนสู่คนได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ Ia อย่างชัดเจน
อาการที่ควรเฝ้าระวังของโรคฝีดาษลิง
- อาการของโรคจะแสดงอาการหลังจากได้รับเชื้อแล้วประมาณ 7-14 วัน
- มีไข้ อ่อนเพลีย ปวดหัว ปวดเมื่อยตามร่างกาย
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- หลังจากมีไข้ประมาณ 1-3 วัน จะมีตุ่มเล็ก ๆ คล้ายผื่นขึ้นตามตัว ซึ่งตุ่มเหล่านี้จะอักเสบและแห้งไปเองใน 2 – 4 สัปดาห์ โดยมีการเปลี่ยนแปลงตามลำดับ ดังนี้
4.1 มีตุ่มนูนแดงคล้ายผื่น
4.2 ภายในตุ่มมีน้ำใสอยู่ภายใน รู้สึกคัน แสบร้อน
4.3 ตุ่มใสกลายเป็นหนอง เมื่ออาการรุนแรงขึ้น ตุ่มหนองเหล่านั้นจะแตกออกและแห้งไปเอง - อาจมีอาการท้องเสีย อาเจียน เจ็บคอ ไอ หอบเหนื่อยร่วมด้วย
- บางรายที่ภูมิคุ้มกันต่ำ หรือมีโรคประจำตัวอาจมีภาวะแทรกซ้อนทำให้อาการรุนแรงอันตรายถึงชีวิตได้
การป้องกัน
- หมั่นล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์หลังจากสัมผัสสัตว์เลี้ยงหรือสิ่งต่าง ๆ
- สวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่ออยู่ในพื้นที่เสี่ยงการแพร่ระบาด
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วยหรือสัตว์ที่อาจเป็นพาหะของโรค
- การฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษ สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้
ข้อมูลอ้างอิง
1. กรมควบคุมโรค. กรมควบคุมโรค เผยโรคฝีดาษลิงติดจากสัตว์สู่คนได้ แม้มีโอกาสติดน้อยแต่ต้องเฝ้าระวัง พร้อมแนะวิธีการป้องกัน . 2565, แหล่งที่มา : https://ddc.moph.go.th/brc/news.php?news=25415&deptcode=
2. Center for Medical Genomics)
![](https://magz20bkk.com/wp-content/uploads/2024/08/messageImage_1724054707176.jpg)
![](https://magz20bkk.com/wp-content/uploads/2024/08/messageImage_1724054911474.jpg)
#จบ#
Leave a Comment